ดิว.นินจา

ดิว.นินจา

Thursday, February 1, 2018

ฝึกอบรม IoT สำหรับงานควบคุมอุตสาหกรรมโดย ESP32 และ NETPIE (ประจำปี 2561 ครั้งที่ 1 วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561)

IoT for Industrial Control with ESP32 and NETPIE Workshop

โดยการแพร่หลายอย่างรวดเร็วของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันทำให้การพัฒนาอุปกรณ์ที่เรียกว่า IoT (Internet of Things) ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้อุปกรณ์เกือบทั้งหมดที่ล้อมรอบตัวเราจะสามารถเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย ทำให้การตรวจสอบและควบคุมสามารถทำได้จากทุกพื้นที่ที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตาม การฝึกอบรมรวมถึงบทความและเอกสารภาษาไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมุ่งเน้นงานประเภทเก็บข้อมูลและแสดงผล หรือการสั่งงานในลักษณะปิดเปิดเป็นหลัก ในขณะที่งานอุตสาหกรรมหลายประเภทต้องอาศัยระบบควบคุมป้อนกลับ เช่น เครื่องซีเอ็นซี หุ่นยนต์ การควบคุมระดับน้ำ แรงดัน หรือกระบวนการทางเคมี ซึ่งทำให้อัลกอรึทึมบนระบบฝังตัวมีความซับซ้อนมากขึ้น และต้องใช้ทรัพยากรทางฮาร์ดแวร์เช่นไทเมอร์เพื่อความแม่นยำในการสุ่มสัญญาณ

วัตถุประสงค์ของคอร์สอบรมเชิงปฏิบัติ “IoT สำหรับงานควบคุมอุตสาหกรรมโดย ESP32 และ NETPIE” เน้นสาระสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาตัวควบคุมบนฮาร์ดแวร์ฝังตัวที่ใช้งานได้จริง เสถียร และมีสมรรถนะตามที่ผู้ใช้งานต้องการ โดยใช้ชิพ ESP32 ที่มีสมรรถนะสูงกว่า ESP8266 นอกจากนั้นยังสามารถควบคุมและแสดงผลผ่าน WiFi และอินเทอร์เน็ตโดยอาศัยบริการคลาวด์ของ NETPIE เนื้อหาครอบคลุมการอิมพลิเมนต์ตัวควบคุมป้อนกลับ PID การใช้งานโมดูล ADC, PWM การตอบสนองอินเทอร์รัพท์จากภายนอก การเก็บข้อมูลบน EEPROM ภายนอกผ่านบัส i2d โมดูลไทเมอร์และการใช้ FreeRTOS เพื่อกำหนดคอร์การประมวลผลบน ESP32 และเทคนิคที่เป็นประโยชน์ เช่นการวัดค่าคาบเวลาของ PWM และไทเมอร์โดยไม่ต้องอาศัยออสซิลโลสโคป

โครงสร้างของ workshop สอดคล้องกับหนังสือเล่มปรับปรุงใหม่ “ตัวควบคุมป้อนกลับบนอินเทอร์เน็ตโดย ESP8266 และ ESP32” ที่เพิ่มเติมเนื้อหาจากเดิมและแจกให้กับผู้เข้าร่วมอบรมเท่านั้น ส่วนของฮาร์ดแวร์ที่จำลองระบบจะใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่อธิบายในหนังสือ เพียงแต่ออกแบบเป็นโมดูลเรียกว่า LAG3 ทำให้สะดวกในการใช้งานร่วมกับผลิตภัณฑ์บอร์ด ESP32 ที่มีจำหน่ายทั่วไป และยังเพิ่มการแสดงผลโดย RGB LED ที่เปลี่ยนสีตามระดับของเอาต์พุต หรือสามารถเขียนโปรแกรมให้ใช้งานได้อเนกประสงค์

นอกจากการเขียนโปรแกรมบน Arduino IDE แล้ว ผู้อบรมยังได้เรียนรู้พื้นฐานการใช้งานซอฟต์แวร์ Scilab ซึ่งเป็นโอเพนซอร์ส แต่สามารถใช้วิเคราะห์และออกแบบระบบควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเชื่อมต่อระหว่าง Scilab กับบอร์ด ESP32 โดยตรง ทำให้สามารถเปรียบเทียบผลตอบสนองจริงกับการจำลองได้โดยง่าย เพื่อความมั่นใจว่าตัวควบคุมทำงานได้อย่างถูกต้อง

ดาวน์โหลดโบรชัวร์

รายละเอียดของ workshop

วิทยากร: ดร.วโรดม ตู้จินดา ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Certified NETPIE Trainer)

จำนวนผู้เข้าอบรม : 10

คุณสมบัติผู้เข้าอบรม: หากมีพื้นฐานหรือประสบการณ์เกี่ยวกับภาษา C และ Arduino programming มาบ้างจะเป็นประโยชน์

อุปกรณ์ที่ผู้เข้าอบรมต้องนำมาเอง: โน้ตบุ้กที่มีระบบปฏิบัติการ Windows

อุปกรณ์ที่มีให้ทดลอง:

  • บอร์ด WEMOS LOLIN32 พร้อมสาย USB
  • บอร์ด LAG3-ESP32
  • จอ OLED i2c
  • เอกสารและไฟล์ประกอบการฝึกอบรม

สถานที่ฝึกอบรม: ห้องฝึกอบรม dew.ninja ถนนพหลโยธิน 32 (เสนานิคม 1) ใกล้ ม.เกษตรศาสตร์ ดูแผนที่ได้จากฟอร์มลงทะเบียน หรือพิมพ์ dew.ninja บน Google Map

ราคา: 1800 บาท/ท่าน *

ลงทะเบียนอบรม

กำหนดการฝึกอบรม : (ครั้งที่ 1 ปี 2561) 24 กุมภาพันธ์ 2561

เวลา หัวข้อ
9.00 – 9.30 แนะนำฮาร์ดแวร์/ซอฟต์แวร์ และติดตั้ง
9.30 – 10.00 การใช้งานซอฟต์แวร์ Arduino IDE และScilab เบื้องต้น
10.00 – 10.30 Lab 1: การโปรแกรมโมดูล ADC, PWM
10:30 – 10.45 พักช่วงเช้า
10.45 – 11.15 การโปรแกรมไทเมอร์และอินเทอร์รัพท์จากภายนอกบน ESP32
11.15 – 12.00 Lab 2: ระบบป้อนกลับโดยตัวควบคุม PID+ และตัวควบคุมเชิงเส้น
12.00 – 13.00 พักทานอาหารกลางวัน
13.00 – 13.30 Lab 3: การสื่อสารกับ OLED และ EEPROM ผ่าน i2c
13.30 – 14.00 Lab 4: การเชื่อมต่อ WiFi และอินเทอร์เน็ต
14.00 – 14.30 Lab 5: การแสดงผลและควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ตโดย NETPIE
14.30 – 14.45 พักช่วงบ่าย
14.45 – 15.45 Lab 5: การแสดงผลและควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ตโดย NETPIE (ต่อ)
15.45 – 16.15 การโปรแกรมหลายเทรดบน ESP32 โดยไลบรารี FreeRTOS
16.15 – 16.30 สรุปและตอบคำถามจากผู้เข้าอบรม

* สำหรับการฝึกอบรม รอบ 24 กพ. 2561: ผู้เข้าอบรมทุกท่านจะได้รับบอร์ด WEMOS LOLIN32 พร้อมสาย USB บอร์ด LAG3-ESP32 รวมถึง hardcopy ของหนังสือ “ระบบควบคุมป้อนกลับบนอินเทอร์เน็ดโดย ESP8266 และ ESP32” เล่มปรับปรุงล่าสุดฟรี

No comments:

Post a Comment

แนะนำหนังสือ “ตัวควบคุมป้อนกลับบนอินเทอร์เน็ตโดย ESP8266”

ปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) คงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จัก ในยุคที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นกิจวัตรประจำวันของมนุษย์เ...