ดิว.นินจา

ดิว.นินจา

Thursday, November 16, 2017

Workshop ตัวควบคุมป้อนกลับบนอินเทอร์เน็ต ครั้งที่ 1

โดยการแพร่หลายอย่างรวดเร็วของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันทำให้การพัฒนาอุปกรณ์ที่เรียกว่า IoT (Internet of Things) ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้อุปกรณ์เกือบทั้งหมดที่ล้อมรอบตัวเราจะสามารถเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย ทำให้การตรวจสอบและควบคุมสามารถทำได้จากทุกพื้นที่ที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตาม การฝึกอบรมรวมถึงบทความและเอกสารภาษาไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมุ่งเน้นงานประเภทเก็บข้อมูลและแสดงผล หรือการสั่งงานในลักษณะปิดเปิดเป็นหลัก ในขณะที่งานอุตสาหกรรมหลายประเภทต้องอาศัยระบบควบคุมป้อนกลับ เช่น เครื่องซีเอ็นซี หุ่นยนต์ การควบคุมระดับน้ำ แรงดัน หรือกระบวนการทางเคมี ซึ่งทำให้อัลกอรึทึมบนระบบฝังตัวมีความซับซ้อนมากขึ้น และต้องใช้ทรัพยากรทางฮาร์ดแวร์เช่นไทเมอร์เพื่อความแม่นยำในการสุ่มสัญญาณ

วัตถุประสงค์ของคอร์สอบรมเชิงปฏิบัติ “ตัวควบคุมป้อนกลับบนอินเทอร์เน็ต” หรือเรียกโดยย่อว่า IoFC (Internet of Feedback Controllers) เน้นสาระสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาตัวควบคุมบนฮาร์ดแวร์ฝังตัวที่ใช้งานได้จริง เสถียร และมีสมรรถนะตามที่ผู้ใช้งานต้องการ นอกจากนั้นยังสามารถควบคุมและแสดงผลผ่าน WiFi โดยการทำงานในโหมด soft-AP หรือผ่านอินเทอร์เน็ตโดยอาศัยบริการคลาวด์ของ NETPIE เนื้อหาครอบคลุมการอิมพลิเมนต์ตัวควบคุม PID ที่มีฟังก์ชันเสริมสำหรับปรับปรุงผลตอบสนอง และตัวควบคุมเชิงเส้นที่ออกแบบเฉพาะ

โครงสร้างของ workshop สอดคล้องกับหนังสือ “ตัวควบคุมป้อนกลับบนอินเทอร์เน็ตโดย ESP8266” โดยส่วนของฮาร์ดแวร์ที่จำลองระบบจะใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่อธิบายในหนังสือ เพียงแต่ออกแบบเป็นโมดูลเรียกว่า LAG3 ทำให้สะดวกในการใช้งานร่วมกับผลิตภัณฑ์บอร์ด ESP8266 ที่มีจำหน่ายทั่วไป และยังเพิ่มการแสดงผลโดย RGB LED ที่เปลี่ยนสีตามระดับของเอาต์พุต หรือสามารถเขียนโปรแกรมให้ใช้งานได้อเนกประสงค์

นอกจากการเขียนโปรแกรมบน Arduino IDE แล้ว ผู้อบรมยังได้เรียนรู้พื้นฐานการใช้งานซอฟต์แวร์ Scilab ซึ่งเป็นโอเพนซอร์ส แต่สามารถใช้วิเคราะห์และออกแบบระบบควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเชื่อมต่อระหว่าง Scilab กับบอร์ด IoFC โดยตรง ทำให้สามารถเปรียบเทียบผลตอบสนองจริงกับการจำลองได้โดยง่าย เพื่อความมั่นใจว่าตัวควบคุมทำงานได้อย่างถูกต้อง

พื้นฐานที่ได้ศึกษาจาก workshop นี้สามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาบนผลิตภัณฑ์ที่ใช้โมดูล ESP32 ได้ในอนาคต ปัจจุบันซอฟต์แวร์ในการพัฒนาและไลบรารีหลายตัวยังไม่รองรับ ESP32 อย่างสมบูรณ์ ในส่วนท้ายของ workshop จะกล่าวแนะนำการพัฒนาบน ESP32

พิเศษเฉพาะการฝึกอบรมครั้งที่ 1

ในการฝึกอบรมครั้งนี้ ท่านจะได้รับบอร์ด WEMOS D1 R2 ที่มีข้อดีคือความเสถียรและมี form factor เหมือนกับ Arduino ทำให้สามารถใช้ได้กับ shield อื่นที่มีขายทั่วไป รวมถึงบอร์ด LAG3 ที่ออกแบบเฉพาะสำหรับ WEMOS D1 R2 และ OLED panel ดังนั้นท่านสามารถนำบอร์ดกลับไปเรียนรู้เพิ่มเติมที่บ้านได้ ลักษณะการต่อใช้งานดังรูป

ผู้สนใจสามารถติดต่อลงทะเบียนทางไลน์ ID: dewdotninja อีเมล์ dewdotninja@gmail.com หรือหลังไมค์ที่ facebook page: https://www.facebook.com/dewninjathai/

เป้าหมายหลักของการฝึกอบรม

  1. เรียนรู้การโปรแกรม ESP8266 โดยอาศัย Arduino IDE และไลบรารีต่างๆ สามารถเขียนภาษา C บน Arduino เพื่อสั่งงานอุปกรณ์หลักของ ESP เช่น ADC, PWM, I2C
  2. เรียนรู้พื้นฐานการใช้งานซอฟต์แวร์ Scilab เพื่อวิเคราะห์ระบบควบคุมและจำลองระบบ
  3. ศึกษาการอิมพลิเมนต์อัลกอริทึมควบคุมป้อนกลับ PID และตัวควบคุมเชิงเส้นทั่วไป และสามารถเปรียบเทียบผลตอบสนองทางปฏิบัติกับผลที่ได้จากการจำลองเพื่อตรวจสอบว่าอัลกอริทึมทำงานได้อย่างถูกต้อง
  4. เรียนรู้การใช้ไทเมอร์บน ESP8266 เพื่อกำหนดคาบเวลาการสุ่มที่แน่นอน และสามารถแยกอัลกอริทึมควบคุมเป็นอิสระจากงานอื่น
  5. เรียนรู้การรับส่งข้อมูลผ่านพอร์ตอนุกรม และ wifi
  6. ศึกษาการควบคุมและแสดงผลผ่านอินเทอร์เน็ตโดยบริการ NETPIE
  7. แนะนำการพัฒนาบน ESP32
ลงทะเบียน workshop

รายละเอียดของ workshop

Brochure

การฝึกอบรมครั้งที่ 1: เสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2560

วิทยากร: ดร.วโรดม ตู้จินดา ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Certified NETPIE Trainer)

จำนวนผู้เข้าอบรม: 10

คุณสมบัติผู้เข้าอบรม: หากมีพื้นฐานกหรือประสบการณ์เกี่ยวกับภาษา C และ Arduino programming มาบ้างจะเป็นประโยชน์

อุปกรณ์ที่ผู้เข้าอบรมต้องนำมาเอง: โน้ตบุ้กที่มีระบบปฏิบัติการ Windows

อุปกรณ์ที่มีให้ทดลอง:

  • บอร์ด WEMOS D1 R2 พร้อมสาย USB
  • บอร์ด LAG3
  • จอ OLED i2c
  • เอกสารและไฟล์ประกอบการฝึกอบรม

สถานที่ฝึกอบรม:ห้องฝึกอบรม dew.ninja ถนนพหลโยธิน 32 (เสนานิคม 1) ใกล้ ม.เกษตรศาสตร์ แผนที่จะส่งให้ผู้อมรมทางอีเมล์

ราคา: 2,000 1,800 บาท/ท่าน*

* พิเศษสำหรับการฝึกอบรม รอบ 16 ธค. 2560: ผู้เข้าอบรมทุกท่านจะได้รับบอร์ด WEMOS D1 R2 บอร์ด LAG3 OLED panel รวมถึง hardcopy ของหนังสือ “ระบบควบคุมป้อนกลับบนอินเทอร์เน็ดโดย ESP8266” ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดฟรี นอกจากนั้นสำหรับผู้อบรมที่เคยซื้อหนังสือเล่มใดก็ได้ของวิทยากร (รวม e-book) และนำมาแสดงจะได้ส่วนลดเพิ่มอีก 200 บาท

ลงทะเบียน workshop


กำหนดการฝึกอบรม

เวลา หัวข้อ
9:00 - 9:30 แนะนำฮาร์ดแวร์/ซอฟต์แวร์ และติดตั้ง
9:30 - 10:00 การใช้งานซอฟต์แวร์ Scilab พื้นฐาน
10:00 - 10:30 Lab 1: ระบบวงเปิด
10:30 - 10:45 พักช่วงเช้า
10:45 - 11:15 ตัวควบคุมแบบดีสครีตและการอิมพลิเมนต์
11:15 - 12:00 Lab 2: ระบบป้อนกลับโดยตัวควบคุม PID+ และตัวควบคุมเชิงเส้น
12:00 - 13:00 พักทานอาหารกลางวัน
13:00 - 13:30 การเชื่อมต่อ WiFi และอินเทอร์เน็ตโดย ESP8266
13:30 - 14:00 Lab 3: การเชื่อมต่อ WiFi ในโหมด soft-AP
14:00 - 14:30 Lab 4: การแสดงผลและควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ตโดย NETPIE
14:30 - 14:45 พักช่วงบ่าย
14:45 - 15:30 Lab 4: การแสดงผลและควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ตโดย NETPIE (ต่อ)
15:30 - 16:15 Extra NETPIE workshop + แนะนำการพัฒนาบน ESP32
16:15 - 16:30 สรุปและตอบคำถามจากผู้เข้าอบรม

No comments:

Post a Comment

แนะนำหนังสือ “ตัวควบคุมป้อนกลับบนอินเทอร์เน็ตโดย ESP8266”

ปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) คงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จัก ในยุคที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นกิจวัตรประจำวันของมนุษย์เ...